วิสัยทัศน์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9
วิสัยทัศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระวิสัยทัศน์ส่วนพระองค์ โดยการมองปัญหาอย่างลึกซึ้งและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ชาวไทยควรทำความเข้าใจกับวิธีคิดของพระองค์ท่าน ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่ซับซ้อนอะไรแต่เต็มไปด้วยความลึกซึ้งและตรงประเด็น สิ่งเหล่านี้เชาวไทยสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ และใช้แนวทางนี้เพื่อสานต่องานของพระองค์ได้
ตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ 70 ปี มีโครงการตามพระราชดำริจำนวน 4,685 โครงการ การที่พระองค์สามารถทำโครงการจำนวนมากขนาดนี้ได้ เคล็ดลับอยู่ที่การสื่อสารนั่นเอง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของพระองค์นำไปสู่การสร้างเครือข่าย วิธีการแรกคือทรงพยายามทำความรู้จักประชาชนของพระองค์ก่อน โดยต้องสามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรง ไม่ต้องมีพิธีการหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากวุ่นวาย สมัยนั้นโลกยังไม่มีโซเชียลมีเดียและโซเชียลเน็ตเวิร์ค จึงทรงใช้วิธีการสื่อสารทางวิทยุโดยตรงกับประชาชน ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิตขึ้น
ในการออกอากาศช่วงแรกของสถานีทรงใช้วิธีการเปิดแผ่นเสียงเพลงให้ประชาชนฟังด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงริเริ่มโครงการโปลิโอสงเคราะห์ขึ้นและทรงจัดรายการสารคดีให้ความรู้ในการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยโปลิโอ มีประชาชนร่วมทำบุญจำนวนมากจนสามารถสร้างตึกและซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ได้
เมื่อปี พ.ศ. 2505 เกิดพายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มภาคใต้ทรงใช้สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิตเชิญชวนให้ประชาชนบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เงินกว่า 10 ล้านบาท เมื่อนำเงินไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคและสร้างสถานสงเคราะห์เด็กแล้ว เหลือเงินบางส่วนจึงทรงนำมาตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ต่อมาในหลวงทรงนำวิทยุสื่อสารมาใช้โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาจราจร โดยเฉพาะการปิดถนนเวลามีขบวนเสด็จ ทรงต้องการให้ใช้เวลาสั่นที่สุด และต่อมาทรงต้องการพัฒนาคุณภาพของการสื่อสารให้ดีที่สุดโดยโปรดให้ รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ พัฒนาสายอากาศมาตรฐานใหม่ชื่อรอยัล แสตนดาร์ด (Royal Standard) ซึ่งสามารถลดความสูญเสียกำลังส่งสัญญาณลงถึงสิบเท่าและส่งได้ไกลถึง 600 กิโลเมตรเพื่อจะได้ทรงติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ ได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ยังทรงพัฒนาระบบโทรศัพท์ซึ่งพูดกันได้พร้อมกันสามสายและทรงติดตั้งเครื่องเทเล็กซ์เพื่อรับข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆได้ 24 ชั่วโมงในห้องทรงงาน ทรงมีพระประสงค์จะได้ทราบทันทีเวลามีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้นกับประชาชน เช่น กรณีเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ในหลวงทรงสั่งการช่วยเหลือประชาชนจากพระที่นั่งทักษิณราชนิเวศน์ นอกจากใช้การสื่อสารเพื่อการติดต่อสั่งการแล้วยังทรงใช้เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงกการตามพระราชดำริต่างๆ ด้วย
กุญแจของความสำเร็จคือการทำความรู้จักกับคนอย่างรวดเร็วและสร้างการติดต่อสื่อสารให้เป็นระบบและติดตามความคืบหน้าของงานอย่างสม่ำเสมอ
ในหลวงทรงให้ความสำคัญกับแผนที่มาก ทรงสร้างแผนที่เฉพาะพระองค์ขึ้น โดยทรงใช้แผนที่ละเอียดสูงของกรมแผนที่ทหารมาต่อกันถึงเก้าส่วนทำให้ได้แผนที่ที่มีความละเอียดสูงมากโดยทรงพับให้เหลือขนาดเพียงส่วนเดียวเวลานำติดพระองค์ไปยังที่ต่างๆ ทรงสั่งการให้กรมแผนที่ทหารทำแผนที่ทางอากาศถวายด้วย เวลาเสด็จไปที่ไหนที่มีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จะทรงรับสั่งถามคนในพื้นที่โดยละเอียดเพื่อแก้ไขปรับปรุงแผนที่ส่วนพระองค์ให้ทันสมัยอยู่เสมอและทรงใช้กล้องถ่ายรูปช่วยในการเก็บรายละเอียดในการปรับปรุงแผนที่ของพระองค์
เวลาในหลวงเสด็จไปปฏิบัติภารกิจในชนบท สิ่งที่ทรงให้ความใส่ใจมากคือข้อมูลโดยตรงจากคนในพื้นที่ โดยทรงซักถามรายละเอียดและปัญหาจากประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ เพื่อนำมาบันทึกลงในแผนที่เป็นข้อมูลพื้นฐานในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต แผนที่ของในหลวงจึงเป็นแผนที่ที่มีข้อมูลทุกอย่างของภูมิประเทศและปัญหาและความต้องการของประชาชน
กุญแจของความสำเร็จคือการมีเครื่องมือที่เหมาะสม และมีอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยงาน มีการเตรียมพร้อมก่อนทำงานและปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องอยู่เสมอ
คุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดีสำหรับในหลวงคือ การเข้าถึงหัวใจของประชาชนทรงให้ความใส่ใจต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งข้าราชบริพาร ข้าราชการและประชาชน ด้วยความมีเมตตาและไม่มีพิธีรีตอง บางครั้งทรงวิทยุไปพระราชทานพรปีใหม่ให้กับพนักงานที่ทำงานในพื้นที่ด้วย
ในหลวงทรงให้ความใส่ใจกับภาคใต้มากเพราะประชาชนมีปัญหาความยากจน การขาดที่ดินทำกินและการสื่อสารกับทางราชการ เนื่องจากความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ในหลวงทรงเปิดใจกับคนภาคใต้มาก และทรงเริ่มต้นโดยการพูดคุยกัน จึงทรงเริ่มเรียนภาษายาวีและโปรดให้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บางครั้งทรงเสด็จด้วยพระบาทไปพูดคุยกับชาวบ้าน การยึดถือตัวเองให้น้อยลงและคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น ที่สำคัญคือยอมรับในตัวตนของเขา ทรงเริ่มศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน และทรงมอบหมายให้จุฬาราชมนตรีแปลคัมภีร์อัลกุรอานจากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย เมื่อเข้าถึงใจของประชาชนแล้วจึงทรงลงมือแก้ปัญหาให้ภาคใต้โดยเริ่มจากปัญหาป่าพรุ
กุญแจของความสำเร็จคือยอมรับในความแตกต่าง คิดถึงใจคนอื่นมากกว่าใจเราเอง
สำหรับในหลวงแล้วสิ่งที่มีค่ามากที่สุดของประเทศไทยคือน้ำ เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่จำเป็นกับทุกกิจกรรมชีวิต ความไม่สมดุลของน้ำคือปัญหาหลักของประเทศ ทรงศึกษาเรื่องการชลประทานเพิ่มขึ้น หลักการสำคัญของในเรื่องน้ำคือความคุ้มค่า ทรงคิดเรื่องฝายชะลอน้ำเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า ทรงนำผักตบชวามาแก้ปัญหาน้ำเสียในเมือง ความคุ้มค่าของในหลวงในเรื่องน้ำคือการนำปัจจัยต่างๆ มาใช้อย่างเหมาะสมและเกิดผลไม่ใช่การทุ่มงบประมาณลงไปอย่างเดียว
โครงการแก้มลิงของในหลวงเป็นโครงการที่บริหารจัดการน้ำได้ครบวงจรทั้งในเรื่องการกักเก็บน้ำและการป้องกันน้ำท่วม
กุญแจของความสำเร็จคือเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ลงทุนโดยตั้งเป้าหมายระยะยาว และมองปัญหาให้รอบด้านคิดให้ครบวงจร
ปัญหาเรื่องดินเป็นเรื่องใหญ่เพราะดินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดยิ่งกว่าน้ำ ทรงหาวิธีที่จะปรับปรุงพื้นที่ที่สภาพดินเสียไปแล้วให้กลับมาใช้เพาะปลูกได้อีก เมื่อมีผู้ถวายที่ดินที่เขาหินซ้อนจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งมีสภาพดินเสียไปแล้วจึงทรงสร้างศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรก ทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาเรื่องดินเปรี้ยวอย่างจริงจัง ทรงคิดเรื่องการแกล้งดินเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจนสำเร็จ โปรดให้จัดทำเป็นตำราแก้ไขดินเปรี้ยวขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก
ทรงค้นพบว่าหญ้าแฝกสามารถนำมาแก้ปัญหาดินได้เนื่องจากรากของหญ้าแฝกสามารถยึดดินได้ดี ชะลอการไหลของน้ำและรักษาหน้าดิน หญ้าแฝกช่วยให้ดินอุ้มน้ำและทำให้ดินร่วนซุย
กุญแจของความสำเร็จคือยอมรับเรื่องร้ายที่เราเป็น เมื่อเจออุปสรรคต้องทุมเทเพื่อแก้ไขไม่หลีกเลี่ยงโดยเริ่มจากปัญหาที่ยากที่สุดก่อน
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปัญหารถติดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในหลวงจึงทรงให้สร้างถนนวงแหวนขึ้น คือถนนวงแหวนรอบใน และถนนวงแหวนรอบนอก เพื่อระบายรถออกไปจากกลางเมือง ทางคู่ขนานบรมราชชนนีและสะพานพระราม 8 เกิดขึ้นจากการสังเกตของในหลวงเมื่อทรงเสด็จไปเยี่ยมสมเด็จย่าที่โรงพยาบาลศิริราช
กุญแจของความสำเร็จคือมองภาพรวมรู้เป้าหมายที่แท้จริงของงาน เริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยขยายงานออกไป และเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในหลวงทรงทราบดีถึงปัญหาความแห้งแล้งของประเทศ ทรงคิดหาวิธีทำฝนเทียมขึ้นจนสำเร็จร่วมกับม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล โดยในหลวงได้นำข้อมูลจากที่ทรงรวบรวมมาให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ใช้ศึกษา จนค้นพบว่าแคลเซียมคลอไรด์คือสารตั้งต้นร่วมกับน้ำแข็งแห้งสามารถทำให้เมฆรวมตัวและกลั่นมาเป็นน้ำฝนได้สำเร็จ โครงการนี้ประชาชนเรียกว่าโครงการฝนหลวง หลังจากนั้นในหลวงทรงพัฒนาโครงการนี้อย่างต่อเนื่องและจัดทำเป็นตำราทำฝนหลวงเพื่อเผยแพร่ความรู้นี้แก่คนทั่วไป
กุญแจของความสำเร็จคือเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำและใช้ความพยายามให้ถึงที่สุด
ในหลวงพบว่าต้นเหตุของปัญหายาเสพติดที่จริงคือความยากจน ความอดอยากทำให้ชาวบ้านต้องปลูกฝิ่น ในหลวงทรงให้ชาวบ้านลองปลูกพืชอื่นที่มีขั้นตอนเหมือนการปลูกฝิ่นและได้ผลผลิตที่มีราคาดีแทนการปลูกฝิ่นที่ผิดกฎหมาย นี่คือที่ต้นแบบของโครงการหลวงในเวลาต่อมาและสถานีเกษตรหลวงอ่างขางจึงเกิดขึ้น ต่อมาจึงเกิดโรงงานดอยคำเพื่อแปรรูปผลผลิตจากโครงการหลวงและรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านในพื้นที่
โครงการหลวงยังได้พัฒนาสายพันธุ์ สตอเบอรี่ออกมาหลายสายพันธุ์ รวมทั้งขยายศูนย์พัฒนาไปตามดอยต่างอีก 39 ศูนย์
กุญแจของความสำเร็จคือมองหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา คิดแก้ปัญหาให้ครบทั้งระบบและพัฒนาคุณภาพคน
ในหลวงทรงตระหนักว่าในความจำเป็นของชีวิตคือต้องหาสิ่งที่ต้องมีก่อนสิ่งที่ต้องการ อาหารคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่คนเราต้องมี ทรงเปลี่ยนสวนจิตรลดาบ้านของพระองค์ให้กลายเป็นแปลงเกษตรขนาดย่อมเพื่อทดลองและวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าอะไรคืออาหารที่ชาวบ้านผลิตได้ง่ายและมีคุณค่าทางสารอาหารเพียงพอ ทรงต่อยอดออกไปจนถึงการแปรรูปเพื่อจำหน่าย
ต่อมาในหลวงทรงคิดทฤษฎีใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต โดยเริ่มต้นจากการทำการเกษตรให้มีกินเพียงพอให้พึ่งตนเองได้ก่อนและค่อยพัฒนาไปเป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำการตลาดและขายผลผลิตจนพัฒนาขึ้นไปจนถึงขั้นหาทุนเพื่อพัฒนาการเพิ่มผลผลิตต่อไป สรุปแนวคิดที่พระองค์ได้จากการทรงงานมาตลอดชีวิตคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กุญแจของความสำเร็จแยกสิ่งที่ต้องมีออกจากสิ่งที่ต้องการ สร้างความสะดวกด้วยการสรรหาสิ่งที่ต้องมี หากมีเหลือพอค่อยมีสิ่งที่ต้องการตามมา
อ่านบทความต่อไป คลิ๊ก !!! เครื่องบิน