โรงเรียนวัดนาหนอง (วิธานราษฎร์อนุกูล)

หมู่ 2 ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000

Mon - Fri: 9:00 - 17:30

095 049 4524

โรงเรียนวัดนาหนอง

ผู้อำนวยการ

นาย ธิตติยพัทย์    อยู่จิตร์
โรงเรียนวัดนาหนอง(วิธานราษฎร์อนุกูล)

Previous slide
Next slide

ประวัติ โรงเรียนวัดนาหนอง โดยย่อ

โรงเรียนวัดนาหนอง (วิธานราษฎร์อนุกูล) คำขวัญและวัตถุประสงค์เฉพาะของสถาน ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ ในท้องที่ตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ ๖๖ คน เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่๒ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีอาคารเรียน ๒ หลัง อาคารประกอบ ๑ หลัง และอาคารเอนกประสงค์ ๑ หลัง บ้านพักครู ๑ หลัง

ความเป็นมา

(วิธานราษฎร์อนุกูล)ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๕ โดยอาศัยศาลาวัดเป็นที่เรียน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านพระครูวิธานศาสนกิจ (หลวงพ่อโห้) เจ้าอาวาสวัดได้ชักชวนประชาชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างอาคารเรียน แบบ ป.๑๘ ขนาด ๔ ห้องเรียนขึ้นมา ๑ หลัง โดยใช้นามอาคารเรียนหลังนี้ว่า “โรงเรียนวัดนาหนอง (วิธานราษฎร์อนุกูล)” ปัจจุบันอาคารเรียนหลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมหมดสภาพไปแล้ว อดีตเจ้าอาวาส คือ ท่านพระครูเอนก รตฺนวณฺโณ สมณศักดิ์ในขณะนั้น ได้ร่วมกับประชาชนบริจาคเงินสมทบกับทางราชการก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นมาใหม่ ๑ หลัง เป็นแบบวันครู จำนวน ๕ ห้องเรียน โดยใช้นามอาคารเรียนว่า เอนกรัฐ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้ใช้เป็นที่เรียนจนกระทั่งทุกวันนี้ ต่อมาทางราชการได้ขยายการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จำนวนนักเรียนมากขึ้น จึงได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ก จำนวน ๓ ห้องเรียนอีก ๑ หลัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ รวมเป็น ๒ หลัง

วิสัยทัศน์(Vision)

จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต มีนิสัยอดออม เชิดชูวัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อมใให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของโรงเรียน

“พัฒนาความรู้ คู่คุณธรรม ดำรงภูมิปัญญา รักษาสิ่งแวดล้อม”

คำขวัญโรงเรียน

ตั้งใจศึกษา รักษาคุณธรรม รักษ์หัตถกรรมผ้าจกไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เอกลักษณ์

อนุรักษ์วัฒนธรรมถิ่นไท-ยวน

อัตตลักษณ์

รักษ์ถิ่นไท-ยวน

พันธกิจ (Mission)

๑. จัดกิจกรรมให้นักเรียนมีวินัย ใฝ่รู้ใฝ่เรียน คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา มีนิสัยอดออมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

๒. จัดกิจกรรมให้นักเรียนอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม สามารถนำไปเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

๓. จัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอผ้าจก ใช้ภาษาไท-ยวน

๔. จัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

กิจกรรมโรงเรียน
นานาสาระ

เรื่อง อุปสงค์และอุปทาน

การศึกษาเรื่องอุปสงค์ และอุปทานเป็นการศึกษาเพื่อที่จะอธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อสินค้า และบริการ ศึกษาเพื่อที่จะอธิบายพฤติกรรมของผู้ผลิตในการตัดสินใจผลิตสินค้านั้นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีการตกลงการซื้อขายสินค้ากันในตลาด

ความหมายของอุปสงค์และอุปทาน

อุปสงค์

คือ ความเต็มใจ และความสามารถของผู้บริโภคหรือผู้ซื้อในการจ่ายเงินซื้อสินค้าในปริมาณต่างๆ ของสินค้าที่มีราคาแตกต่างกัน อุปสงค์ในสินค้า และบริการจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ อุปสงค์แต่ละบุคคลที่เป็นการศึกษาพฤติกรรมการซื้อของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง และ อุปสงค์รวมหรืออุปสงค์ตลาด ซึ่งเป็นการศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าของทุกคนในตลาดร่วมกันช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง

1 กฎของอุปสงค์ โดยปกติแล้วประชาชน จะมีความต้องการสินค้า และบริการที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคนจะมีอุปสงค์ในการซื้อเป็นแบบเฉพาะของตัวเอง การซื้อสินค้า และบริการของประชาชนในระยะหนึ่งจะขึ้นอยู่กับราคาของสินค้า และบริการนั้นๆ โดยจะมีข้อสมมติปัจจัยอื่นๆ ที่ยังอยู่เหมือนเดิม อาจกล่าวได้ว่าผู้ซื้อมักจะซื้อสินค้ามากขึ้น เมื่อราคาของสินค้านั้นลดลงแต่ในทางกลับกันผู้ซื้อจะซื้อสินค้าน้อยลงหากราคาสินค้านั้นสูงขึ้น และนี่คือกฎของอุปสงค์ จากกฎที่กล่าวมาข้างต้น จะมีเหตุผลที่อธิบายได้ 3 ประการ คือ

  • ผู้บริโภคมีรายได้อย่างจำกัด หมายความว่า ผู้บริโภคจะพยายามใช้จ่ายรายได้ไปในทางที่พอใจแก่ตัวเองมากที่สุด เมื่อผู้บริโภคเห็นว่าราคาสินค้าลดลงทำให้รายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นก็จะมีการซื้อมากขึ้น เเต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้บริโภคเห็นว่าราคาสินค้านั้นสูงขึ้นทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลงการซื้อสินค้านั้นก็ย่อมน้อยลง ที่กล่าวมาข้างต้นเรียกว่า ผลทางรายได้
  • เมื่อสินค้า และบริการใดๆลดลงผู้บริโภคก็จะซื้อสิ่งนั้นมากขึ้น หมายความว่า ผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์ที่จะลดการใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆเพื่อทดแทนกัน จากที่กล่าวมาข้างต้น เรียกว่า ผลที่เกิดจากการทดแทน
  • การที่สินค้าและบริการมีราคาลดลง ผู้บริโภคก็จะซื้อสินค้า และบริการนั้นมากขึ้นเป็นลำดับ

2 ปัจจัยที่มีผลต่อการกําหนดอุปสงค์ คือ ปัจจัยต่างๆ มีอิทธิพลต่อจำนวน และปริมาณของสินค้า ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อปริมาณการซื้อมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้มีหลายประการ เช่น

  • ราคาสินค้าที่ซื้อ ถ้าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นปริมาณในการซื้อจะลดลง ในทางตรงกันข้ามถ้าราคาสินค้าลดลงปริมาณในการซื้อจะเพิ่มขึ้น
  • จำนวน และส่วนประกอบของประชากร ถ้าหากประเทศใดมีประชากรที่เพิ่มขึ้นความต้องการในการใช้สินค้า และบริการต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • รายได้เฉลี่ยครัวเรือน ทั่วไปประชากรจะมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น ความต้องการในสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นแต่ถ้าหากรายได้เฉลี่ยในครอบครัวลดลง ความต้องการนั้นก็อาจจะต้องลดลงด้วย
  •  การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือฤดูกาลทำให้ความต้องการของผู้บริโภค เปลี่ยนไป เช่น ในฤดูร้อนผู้บริโภคต้องการน้ำแข็งหรือชุดว่ายน้ำ ดังนั้น ผ้าห่มหรือเสื้อกันหนาวก็อาจจะไม่เป็นที่ต้องการ
  • การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าชนิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ในกรณีที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นผู้บริโภคก็อาจจะใช้รถยนต์น้อยลงแต่จะใช้สินค้าอย่างอื่นทดแทนกัน 
  • ปัจจัยอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การศึกษา และโฆษณา ค่านิยม รสนิยมของแต่ละบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า

 อุปทาน

คือ ปริมาณของสินค้า และบริการที่ผู้ผลิตจะผลิตออกขายในราคาต่างๆ การที่ผู้ผลิตจะขายสินค้าจะขึ้นอยู่กับราคาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าราคาสูงผู้ขายจะนำออกมาวางในปริมาณที่มาก แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหากราคาต่ำ ผู้ขายก็ย่อมนำสินค้ามาวางในปริมาณที่ลดลง เเละสินค้าชนิดใดก็ตามที่มีมากหรือมีน้อยอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาของสินค้านั้นเพียงอย่งาเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพการแข่งขัน สภาพดินฟ้าอากาศ เทคนิคการผลิต และ ต้นทุนในการผลิต

1 กฎของอุปทาน โดยปกติแล้วผู้ผลิตจะมีความต้องการในการผลิตสินค้าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับราคาของสินค้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ คือ ถ้าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นผู้ผลิตจะผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายมากขึ้นแต่ถ้าหากราคาสินค้านั้นลดลงผู้ผลิตก็จะลดจำนวนของสินค้าที่จะนำออกมาจำหน่าย และต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยอื่นๆด้วย 

2 ปัจจัยที่มีผลต่อการกําหนดอุปทาน คือ ปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อจำนวน และปริมาณของสินค้าที่จะผลิตออกมาวางขายในตลาด ตัวกำหนดปริมาณขายรวมไปถึงปริมาณการผลิต ซึ่งมีหลายปัจจัยดังนี้

  • ราคาสินค้าที่ผลิต คือ โดยทั่วไปถ้าสินค้านั้นสูงผู้ผลิตก็จะยินดีผลิต แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหากราคาสินค้านั้นลดลงผู้ผลิตก็จะมีการลดจำนวนในการผลิต
  • เป้าหมายของผู้ผลิต เช่นถ้าผู้ผลิตต้องการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากกว่ารถบรรทุก ก็จะต้องใช้ทรัพยากรโรงงานในการผลิตรถส่วนบุคคล ทำให้ปริมาณในการผลิตรถบรรทุกลดน้อยลง
  • การเปลี่ยนแปลงของเทคนิคการผลิต กล่าวได้ว่า เมื่อมีการปรับปรุงเทคนิคในการผลิตให้ดีขึ้น จะทำให้สินค้านั้นผลิตได้มากขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลง
  •  ราคา และปัจจัยการผลิต กล่าวได้ว่า ถ้าหากราคาและปัจจัยในการผลิตมีมูลค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันราคาค่าแรงมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อกำไร ทำให้ธุรกิจนั้นจำเป็นต้องลดการผลิตลง
  • จำนวนผู้ผลิต คือ ถ้าหากผู้ผลิตมีจำนวนมากขึ้นจะทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าหากผู้ขายหรือผู้ผลิตน้อยลงก็จะทำให้อุปทานมีจำนวนที่ลดลง
  • ปัจจัยอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การที่กำไรไม่แน่นอนจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่ไม่แน่นอน อาจจะเกิดความผันผวนตามสถานการณ์ภาษี คือถ้าหากรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มราคาสินค้าหรือลดการผลิตสินค้าลง เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเเละสภาพดินฟ้าอากาศก็มีผลทำให้อุปทานเปลี่ยนไป

กล่าวสรุปได้ว่า อุปสงค์คือความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคสินค้า เมื่อสินค้ามีราคาที่น้อยลง ความต้องการของผู้บริโภคก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากสินค้านั้นๆมีราคาที่สูงขึ้นความต้องการของผู้บริโภคก็อาจจะน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม อุปทานนั้นคือความต้องการของผู้ผลิต เมื่อสินค้ามีราคาที่สูงผู้ผลิตก็จะมีความต้องการในการผลิตสินค้ามากขึ้น แต่เมื่อสินค้านั้นมีราคาที่ลดลง ผู้ผลิตก็อาจจะต้องลดจำนวนในการผลิตลง ซึ่งเป็นไปตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน 

ข่าวประชาสัมพันธ์